วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

อยู่อย่างผู้สูงอายุ ที่มีความสุข

ชีวิตทุกคนผ่านวัยทารก วัยเด็ก วัยหนุ่มสาว วัยผู้ใหญ่และก็ถึงวัยสูงอายุ หลายคนได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ ได้อยู่ในครอบครัวที่มีความสุขความอบอุ่นร่วมกับพี่น้อง เจริญเติบโต ศึกษาเล่าเรียน มีอาชีพการงาน และหลักฐานมั่นคง มีครอบครัว มีลูกมีหลาน แล้วก็ก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ ชีวิตที่ผ่านมามีทั้งสุขทั้งทุกข์ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของปุถุชน และเมื่อเป็นผู้สูงอายุประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ว่า จะปฏิบัติตัวอย่างไรให้เป็นผู้สูงอายุที่ดี มีคุณค่า มีความสุขในบั้นปลายขีวิต และเพื่อความสุขของชีวิต เมื่อเป็นผู้สูงอายุมีหลักที่ควรประพฤติและปฏิบัติตัวดังนี้

เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ อายุ 60-70 ปี ขึ้นไปตามที่เรียกกันว่า ผู้สูงอายุ หรือ คนแก่ อย่าไปมัวแต่คิดถึงอายุที่ล่วงไปด้วยความหวาดวิตก อาลัยอาวรณ์ แต่จะคิดว่าเราจะเป็นคนหนึ่งที่ผ่านโลกผ่านชีวิตมามากพอ เฉลียวฉลาดจากการได้รับประสบการณ์ต่างๆ มามากแล้ว พอที่จะอำนวยคุณประโยชน์ให้พวกเด็กๆ และคนหนุ่มสาวได้ ในการให้คำปรึกษา แนะนำ ให้ข้อคิดจากความชำนาญในชีวิตมามาก และภาคภูมิใจในตัวเองว่ายังคงเป็นคนที่มีค่า มีประโยชน์ต่อสังคม แม้ร่างกายอาจเป็นไปได้ที่ไม่สามารถจะกระทำสิ่งใดๆ ได้ เหมือนกับครั้งยังหนุ่มสาว แต่ความคิดอ่าน สติปัญญา ความรอบรู้จะยังคงมีให้ใครๆ ได้เสมอ

ยังคงปรารถนาที่ให้ทุกคนเห็นว่าเราก็เป็นคนที่เหมือนคนทั้งหลาย ซึ่งมีความต้องการและไม่ต้องการ มีความพึงใจและไม่พึงใจ มีความรู้สึกนึกคิดเยี่ยงปุถุชนทั้งหลาย และจำทำตัวเป็นคนมีค่ามีประโยชน์ต่อสังคมเรื่อยไปเท่าที่จะสามารถทำได้

ไม่คอยแต่รบกวนใครๆ เขาจนเกินไป ไม่ต้องมาคอยให้ใครเป็นห่วง คอยกังวล สงสารเวทนา จนเขาไม่เป็นอันทำงาน ประกอบอาชีพ หรือศึกษาเล่าเรียน ไม่ต้องการรบกวนเวลาหรือขัดขวางความสุขของใครอื่น แต่ต้องคอยระวังดูแลตัวเอง ใช้สมอง และความคิดตัดสินปัญหาต่างๆ ด้วยตัวเอง

ควรที่จะมีผุ้ให้คำแนะนำปรึกษาหารือบ้างเมื่อมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นกับตัว อย่าอวดดื้อถือดีว่าตัวเองรู้อะไรดีไปหมดเสียทุกอย่าง และไม่ต้องการพึ่งใคร

สำนึกอยู่เสมอว่าชีวิตกับงานเป็นของคู่กัน งานจะช่วยให้ความสุขใจได้ อย่านั่งๆ นอนๆ หรือนิ่งเฉย ควรหางานทำเพื่อช่วยคลายเหงา และช่วยให้เกิดความสุขทางใจ และควรเป็นงานี่สามารถทำได้ และเป็นงานที่เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่น เพื่อที่จะได้ภูมิใจว่าตัวเองยังมีค่ามีประโยชน์ต่อสังคม

ควรคิดเสมอว่า "อายุ" ไม่ใช่อุปสรรค ที่จะทำให้เลิกเคารพนับถือตนเองและผู้อื่น รู้จักตัวเอง รู้จักผู้อื่น และคิดหาทางช่วยผู้อื่นเสมอเมื่อเขาต้องการ อายุเป็นเพียงตัวเลข ที่บอกถึงเวลาที่ชีวิตล่วงเลยมาตามกาลเวลาเท่านั้น

ยึดมั่นต่อคำกล่าวที่ว่า "คนเราไม่แก่เกินเรียน" สิ่งที่ควรจะต้องทำอย่างต่อเนื่องก็คือ การศึกษาหาความรู้ อ่านเขียน และเรียนให้รู้ถึงเรื่องต่างๆ ที่ทำให้เกิดความรู้ความคิดแปลกๆ ใหม่ๆ เสมอ แล้วจะหาทางเผยแพร่ให้ผู้อื่นรู้ด้วยต่อไป

หาเวลาพักผ่อนหย่อนใจบ้าง สร้างความสนุกสนานเบิกบานใจให้แก่ตัวเอง มีงานอดิเรกทำพอที่จะให้เพลิดเพลินใจ หาเวลาเดินทางท่องเที่ยว ไปงานเลี้ยงของญาติและเพื่อนๆ ไปมาหาสู่คนอื่นๆ จะได้พูดคุยสนทนากันวิพากษ์วิจารณ์กันถึงเรื่องของโลก ได้คุยทบทวนถึงชีวิตแต่หนหลังที่เคยมีสุขมีทุกข์มา และไม่ควรพูดคุยกับเด็กอยู่ตลอดเวลา ถึงความแตกต่างของสมัยนี้กับสมัยก่อน อย่าพยายามเปรียบเทียบอดีตกับปัจจุบัน เพราะการพูดเปรียบเทียบอยู่ซ้ำๆ ซากๆ พวกเด็กๆ จะรำคาญ ไม่อยากฟัง

หากพูดผิดๆ หรือทำสิ่งใดผิดพลาดไปบ้าง ก็อย่าคิดว่าตัวเองอายุมากผ่านชีวิตมามาก เมื่อพูดหรือทำอะไรแล้วต้องถูกเสมอ พูดผิดทำผิดจะต้องได้คิดแก้ไข เด็กรุ่นใหม่อาจมีความรู้ ความฉลาดในเรื่องบางอย่างยิ่งกว่าเราก็ได้

หากแสดงอารมณ์หงุดหงิดเกรี้ยวกราดออกมา ควรใช้สติพิจารณาด้วยเหตุผลถึงการกระทำที่ผ่านมา เมื่ออารมณ์เหล่านั้นสิ้นไป และเตือนตัวเองเสมอว่าไม่บังควรเอาแต่อารมณ์ตัวเองอีกต่อไป


แหล่งข้อมูล : www.ku.ac.th/e-magazine - นิตยสารเกษตรศาสตร์ ฉบับที่ 89 พฤศจิกายน 2550

ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
บันได 5 ขั้น สู่ชีวิตใหม่ ที่มีค่าและเป็นสุข
สุขภาพจิตดี ด้วยการปรับวิธีคิดให้เหมาะสม
ความเครียด
การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เพื่อลดความเครียด
กำลังใจ เอาชนะความเศร้า

อารมณ์ขันบำบัด

วันเวลาในแต่ละวันที่ผ่านไป หลายคนมีความสุขจนล้นเหลือ แต่ก็มีอีกหลายคนที่ดูจะไม่ค่อยมีความสุขเลย สาเหตุที่ทำให้ไม่มีความสุขนั้น มาจากหลายสาเหตุ แต่ก็มีอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เป็นอย่างนั้นได้นั่น คือ "ความเครียด" และวิธีคลายเครียดอีกวิธีหนึ่งก็คือ กรมีอารมณ์ขัน ถ้าวันๆ คุณไม่ได้หัวเราะกับใครเขาเลย นั่นแหละค่ะคุณกำลังป่วยอยู่นะคะ และจงเปลี่ยนเถอะค่ะ เพราะอารมณ์ขันถูกพิสูจน์แล้วว่า เป็นยาวิเศษที่ช่วยบกบัดโรคได้

นายแพทย์ Normal Cousins เป็นคนแรกที่เขียน เกี่ยวกับการอาการป่วย ankylosing spondlitis ของเขา ซึ่งทำให้เขาเจ็บปวด เนื่องจากเนื้อเยื่อกระดูกสันหลัง ที่เชื่อมโยงกันผิดปกติไป โรคนี้พบได้น้อยมาก และเขาได้ทดลองใช้ อารมณ์ขันในการบำบัดตัวเอง เขาพบว่า หลังจากหัวเราะงอหายอยู่สัก 15 นาที จะช่วยให้เขาลดความเจ็บปวดลงได้ ถึง 2 ชั่วโมง นอกจากนี้ ตัวอย่างเลือดยังแสดงผลว่า การอักเสบลดลงด้วย แล้วในที่สุดเขาก็หายป่วย จนกระทั่งเขา เผยแพร่เรื่องนี้ในบทความอันโด่งดังชื่อ "Anatomy of an illness"

หลังจากนั้น มีการศึกษาเรื่องอารมณ์ขัน ช่วยบำบัดอาการป่วยอย่างกว้างขวาง จนทุกวันนี้ ความสนใจเรื่องผลกระทบ จากอารมณ์ขันรุดหน้าไปมาก และจัดเป็นความรู้หนึ่งในสาขา Psychoneuro-immunology ซึ่งศึกษาเรื่องปัจจัยทาง จิตวิทยา สมอง และระบบภูมิชีวิตที่ตอบสนองต่อสุขภาพ

ในอินเดียถึงขนาดมีการตั้ง "ชมรมหัวเราะ" ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคน จะมาพูดคุยและหัวเราะกันในตอนเช้า ข่าวว่ากิจการ ของชมรมได้ผลดีมาก จนกระทั่งดังพอๆ กับชมรมโรตารี่ของอเมริกาเชียวละ

การหัวเราะเป็นภาษาสากล และเป็นการติดต่อทางอารมณ์ด้วย (สังเกตดูว่าเวลาเห็นคนอื่นหัวเราะ คุณมักจะ หัวเราะตาม) การหัวเราะเป็นความสนุกสนานโดยธรรมชาติ ทำให้ผู้คนหันหน้าเข้าหากันพูดคุยกัน ทำลายกำแพงเฉพาะตัว และที่ดีที่สุดคือ การหัวเราะไม่มีผลข้างเคียง ที่ทำความเสียหายใดๆ ต่อร่างกายเลย

มาดูว่าอารมณ์ขันและการหัวเราะ มีผลอย่างไนต่อร่างกายเรา (จากหลักฐานที่มีการพิสูจน์แล้ว)

• ความดันโลหิตลดลง
• ฮอร์โมนเกี่ยวกับความเครียดลดลง ขณะเดียวกันการทำงานของฮอร์โมนต่างๆ ก็เป็นปกติ
• กระตุ้นระบบภูมิชีวิต (Immune system) ทำให้ T-celll ซึ่งเป็นทหารประจำตัว คอยกำจัดเชื้อโรคเพิ่มจำนวนขึ้น รวมถึงแอนติบอดีอื่นๆ ในร่างกายด้วย
• คลายความเจ็บปวด อารมณ์ขันทำให้ผู้ป่วยลืมความเจ็บปวด และยังกระตุ้นการสร้างเอนดอร์ฟินในร่างกาย ซึ่งเป็นฮอร์โมนระงับปวดโดยธรรมชาติอยู่แล้ว
• กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย ขณะที่คุณหัวเราะ กล้ามเนื้ออื่นๆ ที่ไม่ได้สัมพันธ์กับการหัวเราะ จะผ่อนคลาย และเมื่อ หยุดหัวเราะ กล้ามเนื้อที่สัมพันธ์กับการหัวเราะ ก็จะผ่อนคลาย เป็นการทำงานสองขั้นตอนเชียวนะ
• หายใจดีขึ้น การหัวเราะบ่อยๆ ทำให้ปอดโล่ง หายใจได้ลึกขึ้นดีมากๆ สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องการหายใจ

นอกจากนี้ การหัวเราะทำให้เรารู้สึกดีกับการมีชีวิตอยู่ คนที่สามารถสร้างอารมณ์ขัน และหัวเราะได้ ในยามที่ต้อง เผชิญสถานการณ์ที่เลวร้าย เช่น ป่วยด้วยโรคร้ายแรงอย่างมะเร็ว เป็นต้น นับว่าเป็นความกล้าหาญ และจะทำให้ผู้นั้น รู้สึกถึงพลังในตัวเอง นอกจากให้ผลดีทางกาย อย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น ผู้ป่วยยังคลายความเศร้าหมอง และช่วยเปิดทัศนคติในการมองโลก ด้วยแง่มุมที่กว้างขึ้น และเป็นไปในทางบวก

ทันทีที่คุณคิดถึงเรื่องโจ๊ก ตลกโปกฮา สมองซีกซ้ายจะเริ่มทำหน้าที่ คิดวิเคราะห์จัดสรรถ้อยคำ ต่อมาสมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอารมณ์ จะเริ่มตอบสนองโดยพลัน ชั่วครู่สมองซีกขวา จะร่วมปะติดปะต่อเรื่องราวพริบตาเดียว คลื่นสมองจะเพิ่มขึ้น และแพร่ขยายไปทั่วบริเวณของสมอง ก่อนที่จะเล่าเรื่องโจ๊กนั้นออกมาเสียอีก แล้วในที่สุด ก็ระเบิดเป็นการหัวเราะนั่นเอง

อารมณ์ขัน จึงทำให้สมองแทบทุกส่วน ได้ทำงานประสานกันยิ่งกว่ากิจกรรมหลายๆ อย่างที่ทำกันเสียอีก ฉะนั้น เวลาไปเยี่ยมคนไข้ครั้งต่อไป แทนที่จะมัวจับเจ่า พาให้คนไข้เศร้าไปด้วย โดยไม่ได้ประโยชน์อะไร จงเปลี่ยนมาหัวเราะ ร่วมกับเขาดีกว่า ถึงใครจะว่าผิดกาลเทศะ แต่คู้รู้นี่ว่า คนไข้กำลังได้รับยาวิเศษ


แหล่งข้อมูล : www.ku.ac.th/e-magazine - นิตยสารเกษตรศาสตร์ ฉบับที่ 20 กุมภาพันธ์ 2545

ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
บันได 5 ขั้น สู่ชีวิตใหม่ ที่มีค่าและเป็นสุข
อารมย์ขัน ใช่แค่สีสันชีวิต
คู่มือคลายเครียด (1)
วิธีขับไล่ความโกรธเกรี้ยว

บันได 5 ขั้นสู่ชีวิตใหม่ ที่มีค่าและเป็นสุข

บันไดขั้นที่ 1 มองตัวเองว่าดีและมีค่าทุกวัน
ในแต่ละวันให้นึกถึงความดี และความโชคดีของตนเอง เริ่มต้นด้วยการตื่นนอนตอนเช้า ให้ยิ้มกับตัวเอง และนึกว่าโชคดีที่ได้ตื่นขึ้นมาแล้ว ให้นึกถึงความดีของตนเอง ที่เคยทำมาแล้วในอดีต (ที่สามารถนึกได้ง่ายๆ) เช่น เคยทำบุญ เคยช่วยคนที่อ่อนแอกว่า เคยสงเคราะห์สัตว์ ฯลฯ คิดว่าตัวเองดี และมีคุณค่าที่ได้เคยทำสิ่งดีๆ และให้นึกซ้ำๆ จะได้เกิดความเชื่อตามที่นึกนั้น คุณก็จะเกิดความอิ่มเอิบใจ และเชื่อว่าตัวเองมีความดี ความเก่ง ตามความเป็นจริงในขณะนั้นด้วย คุณจะเกิดความอยากมีชีวิตอยู่ และสร้างสิ่งที่ดีๆ ให้กับชีวิตต่อไป และต้องอวยพรตัวเองเสมอๆ อย่าแช่ง หรือตำหนิตัวเอง และอย่ารอให้คนอื่นมาชื่นชมคุณ ซึ่งมักจะไม่ได้ดั่งใจ หรือได้มาก็ไม่สมใจ

บันไดขั้นที่ 2 มองคนอื่นดี มองโลกในแง่ดี
ขั้นนี้คุณจะต้องมองว่า ทุกๆ คน มีขีดจำกัดของความสามารถ ความดี ความเก่งกันทุกคน ตามความเป็นจริงของเขา ซึ่งไม่เท่ากัน และไม่เหมือนกันเลย ส่วนความไม่ดี หรือไม่เก่งของเขา (ซึ่งมีกันทุกคน) ปล่อยให้เป็นเรื่องของเขาไป ให้มองเฉพาะส่วนที่ดีของเขาเท่านั้น ถ้าคุณทำได้เช่นนี้ คุณก็จะเป็นคนที่มองอนาคน และชีวิตดี มีความหวังที่ดีในชีวิตตลอดเวลา สองสิ่งนี้ ถ้าคุณทำเป็นนิสัย คุณจะพบว่า โลกนี้มีสิ่งที่ดีๆ และไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคต่างๆ และท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นสุขนิยมทั้งชีวิต

บันไดขั้นที่ 3 ทำวันนี้ให้ดีที่สุด
คือการอยู่กับปัจจุบัน ทำกิจกรรมในวันนี้และเวลานี้ให้ดีที่สุด ทำได้แค่ไหนเอาแค่นั้น ไม่ทุกข์ร้อน หรือคาดหวังกับผลลัพธ์ของมัน ไม่ว่าจะสมใจ หรือไม่สมใจก็ตาม จงชื่นชมในความตั้งใจ ทำเต็มความสามารถของตนเอง และคิดต่อว่า ในอนาคตจะต้องทำให้ดีกว่านี้ นอกจากนั้น คุณต้องเลิกจดจำ หรือนึกถึงเรื่องที่ไม่ดีที่เกิดกับคุณในอดีต เพราะการจดจำเรื่องราวที่ไม่ดีในอดีต เท่ากับคุณไปสะกิดแผลในใจ และจะทำให้คุณเจ็บปวดมากยิ่งขึ้น จนส่งผลให้ปัจจุบันคุณไม่มีความสุข และกลัวว่าอนาคตจะเกิดสิ่งที่ไม่ดีซ้ำๆ อีก

บันไดขั้นที่ 4 มีความหวังและเชื่อว่าอนาคตจะดีเสมอ
ความหวัง ความเชื่อ เกิดจากความคิดถึงบ่อยๆ หรือได้ยินบ่อยๆ จงนึกและบอกกับตัวเองเสมอว่า อนาคตจะดีขึ้นอีกเรื่อยๆ จะส่งผลให้เกิดกำลังใจมากขึ้น อยากพบเห็นสิ่งต่างๆ ที่จะเข้ามาในชีวิตโดยไม่กลัว มีอารมณ์ขัน และไม่จริงจังกับชีวิตมากนัก แต่จะมีความหวังที่ดีๆ (Good Hope) อยู่เสมอ แต่อย่ามีความคาดหวัง (Expectation) กับชีวิต เพราะถ้าคาดหวังกับชีวิต เรามักจะกลัว หรือกังวลว่าจะไม่ได้ผลลัพธ์ดังความคาดหวัง หรือเมื่อได้มาแล้วก็มักไม่พอใจ จึงอาจทำให้เกิดทุกข์ได้


บันได้ขั้นที่ 5 ปรับปรุงตัวเองเสมอ

โดยปรับปรุง 4 ส่วนที่มีความสำคัญต่อชีวิต คือ

1. การงาน ให้มีความขยัน อดทน หมั่นหาความรู้ใส่ตัว และกล้าลงมือปฏิบัติในสิ่งที่ควรทำ จะทำให้มีการลงมือทำสิ่งใหม่ๆ ในชีวิตได้เรื่อยๆ และปรากฏเป็นผลงานที่ชัดเจน
2. ครอบครัว จะต้องยึดหลักที่เป็นมงคลต่อกันคือ ไม่อิจฉา ไม่ระแวง ไม่แข่งขัน ไม่นอกใจ รู้จักการให้และการอภัย มีน้ำใจ และรู้จักเกรงใจกัน
3. สังคม หมั่นสร้างมิตรเสมอ มีการให้ความสำคัญกัน ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และพูดจากันแบบปิยะวาจา
4. ตนเอง ต้องมีการพัฒนาตนเองเสมอ มีความภูมิใจตนเองตามความเป็นจริง สามารถให้กำลังใจตัวเองได้ และมีกำลังใจที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงตนเองไปในทางที่ดีขึ้น


แหล่งข้อมูล : www.ku.ac.th/e-magazine - นิตยสารเกษตรศาสตร์ ฉบับที่ 68 กุมภาพันธ์ 2549

ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
อารมย์ขันบำบัด
คู่มือคลายเครียด (1)
กำลังใจ เอาชนะความเศร้า
วิธีขับไล่ความโกรธเกรี้ยว

เชื้อโรงในสิงแวดล้อม

คนเรามีชีวิตอยู่ในโลกที่มีเชื้อโรคห้อมล้อมอยู่ตลอดเวลา แต่เรามีความเข้าใจผิด เกี่ยวกับความสะอาดของสิ่งแวดล้อม รอบตัวเราหลายอย่าง ทุกวันนี้หลายคนรู้ว่าก่อนปรุงอาหารแม่ครัวควรล้างมือให้สะอาดเสียก่อน แต่หลายคนไม่รู้ว่า เมื่อเสร็จจากการปรุงอาหารแล้ว ควรจะล้างมือให้สะอาดด้วย เนื่องจากในอาหารดิบ มีเชื้อโรคมากโดยเฉพาะเนื้อสด

โรค ที่คนเราติดจากสิ่งแวดล้อมที่พบบ่อยๆ คือ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ท้องเดิน ตับอักเสบ โรคเหล่านี้บ้างก็ติดต่อทางอากาศ บ้างก็โดยการสัมผัสด้วยมือ นักจุลชีววิทยา ชาร์ล เกอร์บา แห่งมหาวิทยาลัยอริโซนาได้ทำการศึกษา โดยการเพาะเชื้อจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ แล้วพบว่าคนเรามีความเชื่อผิดๆ หลายอย่างเกี่ยวกับความสกปรก ของสิ่งที่แวดล้อมเราอยู่

เราเคยเชื่อกันว่าลูกบิดประตูมีความสกปรกมาก และเชื่อว่าการติดเชื้อทางมือ มาจากลูกบิดประตูมาก เช่นโรคหวัด แต่จากการเพาะเชื้อเขาพบว่า ลูกบิดประตูมีเชื้อโรคค่อนข้างต่ำ คงเนื่องจากมันไม่ชื้น แบคทีเรียหรือไวรัสจึงไม่ค่อยขึ้นมาก

เขาศึกษาพบว่าตามคีย์บอร์ด ของเครื่องคอมพิวเตอร์มีเชื้อโรคมาก มากกว่าปุ่มลิฟท์ ปุ่มและที่กดเปิดเตาไมโครเวฟ หรือปุ่มกดเครื่องทำน้ำเย็นเสียอีก ส่วนเครื่องโทรศัพท์ก็สกปรกมาก โดยเฉพาะเครื่องที่ใช้ร่วมกันหลายคน เขาพบว่ามีเชื้อโรคในระดับสูงพอๆ กับคีย์บอร์ด เนื่องจากมันไม่ได้รับการเช็ดถู ทำความสะอาดเอาเสียเลย

คุณคิดว่าโต๊ะทำงานของเราจะสะอาดแค่ไหน มันไม่สะอาดอย่างที่คุณคิดหรอก เขาศึกษาพบว่า มันมีเชื้อโรคมากกว่าที่รองนั่งส้วมถึง 400 เท่า ทั้งนี้ คงเป็นเพราะว่า เราไม่เคยเช็ดโต๊ะเลย แต่เราเช็ดล้างส้วม แถมบางแห่งใส่ยาฆ่าเชื้อทุกวัน ทำให้เชื้อโรคยังไม่ทันได้แบ่งตัว เพิ่มจำนวนขึ้นมากมาย

อ่างล้างหน้าก็อย่าเข้าใจว่ามันสะอาด มันมีความชื้นมาก เชื้อโรคชอบ เขาพบว่ามันมีเชื้อ อี.โคไล ซึ่งปกติพบในอุจจาระมากกว่าโถส้วมเสียอีก

โถฉี่ของผู้ชายก็มีเชื้อโรคมาก โดยเฉพาะตรงปุ่มกดน้ำชะล้าง

ผ้าที่ผ่านเครื่องซักและอบมาแล้วก็ยังไว้ใจไม่ได้ มันไม่สะอาดอย่างที่เราคิด เขาพบว่าในกางเกงในแต่ละตัวมีเชื้อโรคจากอุจจาระราว 0.1 กรัม ซึ่งนับว่ามาก ดังนั้นจึงเป็นการดีถ้าไม่ซักผ้าเช็ดหน้าร่วมกับกางเกงใน

ในโรงพยาบาลก็มีเชื้อโรคมากมาย แถมยังเป็นเชื้อก่อโรคด้วย เขาพบเชื้อโรคบนเสื้อกาวน์ บนหูฟังของแพทย์ บนเตียงคนไข้ เวชระเบียน และในโรงพยาบาลชั้นยอด ที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ในห้องคนไข้ ก็พบเชื้อโรคมากบนคีย์บอร์ด คนไข้ที่เข้าพักในโรงพยาบาลเพียง 1 วัน จะมีเชื้อโรคของโรงพยาบาล ติดตัวไปอยู่นาน 2 สัปดาห์ คนนอนโรงพยาบาลติดเชื้อมากกว่าคนอยู่บ้าน การเข้านอนในโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น จึงไม่มีผลดี

เชื้อโรคที่เขาตรวจพบในสิ่งแวดล้อมมีดังนี้ E. coli, Klebsiella pneumonia, Streptococcus, Samonella, Staphylococcus aureus และ Virus ซึ่งถ้าในที่แห้งสามารถอยู่ได้เป็นวัน ถ้าเป็นที่ชื้นอยู่ได้เป็นสัปดาห์ โดยทฤษฎีเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ก็อยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ โดยเฉพาะบ้านที่เลี้ยงไก่ แต่โชคดีที่มันยังไม่สามารถแพร่จากคนสู่คนได้

ความสะอาดของมือ เป็นสิ่งสำคัญในการแพร่เชื้อ จากสิ่งแวดล้อมสู่ตัวเรา หรือจากคนไข้คนหนึ่งไปยังอีกคน

หมอ Ignaz Semmelweis แห่งโรงพยาบาลเวียนนาเจเนอรัล ได้สังเกตพบมาตั้งแต่ปี 1846 ว่ามือหมอและนักศึกษาแพทย์ที่ไม่สะอาด เนื่องจากเพิ่งเสร็จมาจากการชำแหระ ศึกษากายวิภาคศพแล้วไปทำคลอด ทำให้หญิงติดเชื้อหลังคลอดแล้ว ตายมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ พยาบาลผดุงครรภ์ทำคลอดมาก (ในสมัยนั้นยังไม่มีถุงมือใช้) หลังจากนั้น เขาให้แพทย์และนักศึกษาแพทย์ ล้างมือด้วยสารละลายคลอรีน ทำให้อัตราตายจากการติดเชื้อหลังคลอด ลดลงมามาก

ปัจจุบันนี้ วงการแพทย์ทางตะวันตกเริ่มตื่นตัว หลังจากทำการศึกษาวิจัย เรื่องความสะอาดของมือ (Hand Hygiene) มามาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (C.D.C.=Centers for Disease Control and Prevention) มีหน่วยงานระบาดวิทยา ที่มีข้อมูลมากมายที่แสดงให้เห็นว่า การทำความสะอาดมือ ของบุคลากรทางการแพทย์ ในสถานพยาบาล สามารถลดอัตราการติดเชื้อ และอัตราตายจากการติดเชื้อ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างของการติดเชื้อ ที่เขาสามารถลดได้ จากการทำความสะอาดมือ เป็นอาจิณปฎิบัติ คือ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ทางเดินหายใจ และสายน้ำเกลือ

การล้างมือดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ถ้าสังเกตคนเราทั่วไป ที่ล้างมือตามบ้าน มักล้างมือด้วยสบู่และน้ำ แล้วหลายคนเอามือไปจับลูกบิดปิดก๊อกน้ำ ลูกบิดซึ่งสกปรกอยู่ ทำให้มือที่ล้างแล้วสกปรกใหม่ ถ้าจะให้ดีควรใช้กระดาษสะอาดเช็ดมือ หลังจากล้างแล้ว เอากระดาษรองมือจับลูกบิดปิดก๊อกน้ำ ถ้าจะให้ดีกว่านั้น ก็ไม่ควรใช้ก๊อกแบบมือหมุน แต่ใช้แบบคันโยกที่สามารถเปิดปิดน้ำ ได้โดยการใช้ข้อศอก หรือหลังมือได้ ไม่ใช้อุ้งนิ้วมือจับคันโยก ซึ่งสกปรก แล้วทำการแพร่เชื้อโรคต่อไป เนื่องจากอุ้งนิ้วหรืออุ้งมือเป็นตัวจับฉวยสิ่งต่างๆ

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ มีหน่วยงานส่งเสริมการทำความสะอาดมือ ของบุคลากรทางการแพทย์ เขารวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยมากมาย มาเขียนเป็นคำแนะนำแนวทาง การปฏิบัติของการทำความสะอาดมือ เช่น กำหนดให้ล้างมือด้วยสบู่และน้ำระหว่างคนไข้ คือเมื่อตรวจ หรือทำหัตถการใดต่อคนไข้แล้ว ก่อนจะไปตรวจคนไข้คนต่อไป เขาแนะนำให้ล้างมือเสียก่อน แต่การล้างมือบ่อยแบบนี้มันทำยาก เสียเวลามาก และสบู่ทำให้มือแห้งคัน ผิวหนังระคายเคืองตามมา บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากจึงไม่ทำ เขาจึงทำการค้นคว้า และพบวิธีที่ทำได้ง่าย คือใช้สารถูมือเข้าแอลกอฮอล์ (Alcohol-based Handrub) ซึ่งมีส่วนประกอบเป็นแอลกอฮอล์ 70% และสารถนอมผิวด้วย สารถูมือนี้ใช้ได้ง่ายแห้งเร็ว ไม่เสียเวลาและไม่ระคายมือ ปัจจุบันศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ แนะนำให้ใช้สารถูมือตัวนี้ แทนการล้างมือด้วยสบู่ในสถานพยาบาล และบริษัทเวชภัณฑ์ ที่ผลิตสารตัวนี้ออกมาขาย ก็พยายามส่งเสริมให้มันแพร่หลาย ไปสู่ประชาชนทั่วไปด้วย

แอลกอฮอล์ เป็นยาฆ่าเชื้อโรคที่ค้นพบมานานแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังใช้ได้ดี เขาไม่พบว่ามีเชื้อโรคอะไร ที่ดื้อต่อแอลกอฮอล์เลย ปัจจุบัน วงการแพทย์มีปัญหาเชื้อโรค ดื้อยาปฏิชีวนะมาก ทำให้การรักษาโรคติดเชื้อยากขึ้นเรื่อยๆ ต้องเสียเวลารักษา และเสียเงินมาก ในการใช้ยาใหม่ที่แพงหูฉี่ การป้องกันการติดเชื้อ จึงมีบทบาทสำคัญมาก

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ พบว่าการป้องกันการติดเชื้อ โดยการรักษาความสะอาดของมือ ได้ผลในการช่วยชีวิตคนไข้มาก ถึงขนาดทำโพสเตอร์เขียนเป็นคำขวัญไว้ว่า “Hand Hygiene Saves Lives” เราท่านทั้งหลายจึงควรรู้ไว้แ ละตื่นตัวรักษาความสะอาดมือกัน ให้เป็นนิสัยเพื่อสุขภาพดีถ้วนหน้านะครับ


แหล่งข้อมูล : นิตยสาร - HealthToday

ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
พิษของพารา...ใครว่าธรรมดา
กลิ่นตัว
โชคดีมีออร์แกนิค

เรื่องง่ายๆ ที่ทำให้สุขภาพดี

เหงือกดี ด้วยน้ำชายามเช้า

องค์การอาหารและยา ของสหรัฐและสวีเดน บอกว่าการบ้วนปากในช่วงเช้าด้วยน้ำชา จะช่วยลดแบคทีเรียในช่องปากได้ เนื่องจากสารโพลีฟีนอล จะช่วยยับยั้ง การเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ที่เป็นต้นเหตุของฟันผุ ส่วนการดื่มชาหลังมื้ออาหาร ก็ช่วยลดความเสี่ยง ในการเกิดโรคเหงือกได้

ีดื่มน้ำมากขึ้น

การดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อย วันละ 5 แก้ว จะช่วยลดความเสี่ยง ในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ได้เกือบ 50%

เปลือยเท้า คลายเครียด

การย่ำเท้าเปล่าไปบนทราย หรือสนามหญ้านุ่มๆ จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย เนื่องจากการเดินเท้าเปล่า จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด

เดินไวๆ ช่วยให้สุขภาพหัวใจแข็งแรง

คนที่ไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกาย แต่ยังห่วงใยสุขภาพของตัวเองอยู่ ลองใช้วิธีเดินขึ้นบันได หรือให้ไวขึ้นอีกนิด อาจใช้เวลาเดินในช่วงเช้าหรือ หลังเลิกงานเดินไปที่ป้ายรถเมล์สักสามสี่ป้าย หรือเดินลงบันได ให้ได้วันละ 20 นาที จะช่วยบริหารหลอดเลือดหัวใจ ให้แข็งแรง และยังจะได้ หุ่นผอมบางสมส่วนเป็นของแถม

เติมไขมันดีๆ ให้ร่างกาย

ไขมันนั้น ไม่ได้เป็นผู้ร้ายซะทีเดียว เพราะไขมันมีอยู่หลายชนิด ไขมันที่เป็นมหามิตรกับร่างกายน่ะ หากร่างกายขาดแคลน อาจมีผลต่อการดูดซึมวิตามินเอ ดี อี เค และทำให้รู้สึกอ่อนเพลียได้ เลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัว จากน้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วและไขมันโอเมก้า 3 จากปลา ซึ่งเป็นไขมันดีๆ ที่ไม่เพียงให้พลังงาน ทำให้มีเรี่ยวแรงแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคมะเร็ง และหัวใจอีกด้วย

รับแสงแดดอ่อน

มีข้อมูลจากการวิจัยระบุว่า ผู้หญิงที่ไม่ค่อยโดนแดดเอาเสียเลย มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งเต้านม มากกว่าผู้หญิงที่อยู่ในเมืองที่มีแดด เนื่องจากแสงแดด ช่วยสังเคราะห์วิตามินดีในร่างกาย แต่การโดนแดดจัดในช่วงบ่ายๆ ก็เป็นอันตรายเช่นกัน ควรรับแดดอ่อนๆ ในช่วงเย็นจะดีกว่า

Just Do Nothing

ลองหยุดภารกิจวุ่นๆ สักสัปดาห์ละวัน หรือวันละ 1 ชั่วโมง ให้ปลอดจากเรื่องงาน และคนรอบข้างใช้เวลาอยู่คนเดียวตามลำพัง จะช่วยทำให้คุณรู้สึกสงบ เป็นเวลาที่จะได้เรียนรู้วิธีหยุดหัวใจ อาจจะฟังเพลงเงียบๆ คนเดียว หรือ อาบน้ำอุ่นๆ แล้วอ่านหนังสือเล่มโปรด ค่อยๆ จิบน้ำชา ชมดอกไม้ เป็นการเติมความรื่นรมย์ด้านจิตใจ ทำให้คุณสดชื่น และมีความสุขอย่างไม่น่าเชื่อ และยังห่างไกลจากโรคความรีบร้อน อันหมายถึงโรคที่ทำให้คุณตื่นตัว และเร่งรีบ จนแทบไม่มีเวลาสำหรับตัวเอง


แหล่งข้อมูล : www.ku.ac.th/e-magazine - นิตยสารเกษตรศาสตร์ ฉบับที่ 76 ตุลาคม 2549

ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
พิษของพารา...ใครว่าธรรมดา
ใช้ยาอย่างไรให้ปลอดภัย
ใช้ยาอย่างไรให้ถูกวิธี
เชื้อโรคในสิ่งแวดล้อม