วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

อยู่อย่างผู้สูงอายุ ที่มีความสุข

ชีวิตทุกคนผ่านวัยทารก วัยเด็ก วัยหนุ่มสาว วัยผู้ใหญ่และก็ถึงวัยสูงอายุ หลายคนได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ ได้อยู่ในครอบครัวที่มีความสุขความอบอุ่นร่วมกับพี่น้อง เจริญเติบโต ศึกษาเล่าเรียน มีอาชีพการงาน และหลักฐานมั่นคง มีครอบครัว มีลูกมีหลาน แล้วก็ก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ ชีวิตที่ผ่านมามีทั้งสุขทั้งทุกข์ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของปุถุชน และเมื่อเป็นผู้สูงอายุประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ว่า จะปฏิบัติตัวอย่างไรให้เป็นผู้สูงอายุที่ดี มีคุณค่า มีความสุขในบั้นปลายขีวิต และเพื่อความสุขของชีวิต เมื่อเป็นผู้สูงอายุมีหลักที่ควรประพฤติและปฏิบัติตัวดังนี้

เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ อายุ 60-70 ปี ขึ้นไปตามที่เรียกกันว่า ผู้สูงอายุ หรือ คนแก่ อย่าไปมัวแต่คิดถึงอายุที่ล่วงไปด้วยความหวาดวิตก อาลัยอาวรณ์ แต่จะคิดว่าเราจะเป็นคนหนึ่งที่ผ่านโลกผ่านชีวิตมามากพอ เฉลียวฉลาดจากการได้รับประสบการณ์ต่างๆ มามากแล้ว พอที่จะอำนวยคุณประโยชน์ให้พวกเด็กๆ และคนหนุ่มสาวได้ ในการให้คำปรึกษา แนะนำ ให้ข้อคิดจากความชำนาญในชีวิตมามาก และภาคภูมิใจในตัวเองว่ายังคงเป็นคนที่มีค่า มีประโยชน์ต่อสังคม แม้ร่างกายอาจเป็นไปได้ที่ไม่สามารถจะกระทำสิ่งใดๆ ได้ เหมือนกับครั้งยังหนุ่มสาว แต่ความคิดอ่าน สติปัญญา ความรอบรู้จะยังคงมีให้ใครๆ ได้เสมอ

ยังคงปรารถนาที่ให้ทุกคนเห็นว่าเราก็เป็นคนที่เหมือนคนทั้งหลาย ซึ่งมีความต้องการและไม่ต้องการ มีความพึงใจและไม่พึงใจ มีความรู้สึกนึกคิดเยี่ยงปุถุชนทั้งหลาย และจำทำตัวเป็นคนมีค่ามีประโยชน์ต่อสังคมเรื่อยไปเท่าที่จะสามารถทำได้

ไม่คอยแต่รบกวนใครๆ เขาจนเกินไป ไม่ต้องมาคอยให้ใครเป็นห่วง คอยกังวล สงสารเวทนา จนเขาไม่เป็นอันทำงาน ประกอบอาชีพ หรือศึกษาเล่าเรียน ไม่ต้องการรบกวนเวลาหรือขัดขวางความสุขของใครอื่น แต่ต้องคอยระวังดูแลตัวเอง ใช้สมอง และความคิดตัดสินปัญหาต่างๆ ด้วยตัวเอง

ควรที่จะมีผุ้ให้คำแนะนำปรึกษาหารือบ้างเมื่อมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นกับตัว อย่าอวดดื้อถือดีว่าตัวเองรู้อะไรดีไปหมดเสียทุกอย่าง และไม่ต้องการพึ่งใคร

สำนึกอยู่เสมอว่าชีวิตกับงานเป็นของคู่กัน งานจะช่วยให้ความสุขใจได้ อย่านั่งๆ นอนๆ หรือนิ่งเฉย ควรหางานทำเพื่อช่วยคลายเหงา และช่วยให้เกิดความสุขทางใจ และควรเป็นงานี่สามารถทำได้ และเป็นงานที่เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่น เพื่อที่จะได้ภูมิใจว่าตัวเองยังมีค่ามีประโยชน์ต่อสังคม

ควรคิดเสมอว่า "อายุ" ไม่ใช่อุปสรรค ที่จะทำให้เลิกเคารพนับถือตนเองและผู้อื่น รู้จักตัวเอง รู้จักผู้อื่น และคิดหาทางช่วยผู้อื่นเสมอเมื่อเขาต้องการ อายุเป็นเพียงตัวเลข ที่บอกถึงเวลาที่ชีวิตล่วงเลยมาตามกาลเวลาเท่านั้น

ยึดมั่นต่อคำกล่าวที่ว่า "คนเราไม่แก่เกินเรียน" สิ่งที่ควรจะต้องทำอย่างต่อเนื่องก็คือ การศึกษาหาความรู้ อ่านเขียน และเรียนให้รู้ถึงเรื่องต่างๆ ที่ทำให้เกิดความรู้ความคิดแปลกๆ ใหม่ๆ เสมอ แล้วจะหาทางเผยแพร่ให้ผู้อื่นรู้ด้วยต่อไป

หาเวลาพักผ่อนหย่อนใจบ้าง สร้างความสนุกสนานเบิกบานใจให้แก่ตัวเอง มีงานอดิเรกทำพอที่จะให้เพลิดเพลินใจ หาเวลาเดินทางท่องเที่ยว ไปงานเลี้ยงของญาติและเพื่อนๆ ไปมาหาสู่คนอื่นๆ จะได้พูดคุยสนทนากันวิพากษ์วิจารณ์กันถึงเรื่องของโลก ได้คุยทบทวนถึงชีวิตแต่หนหลังที่เคยมีสุขมีทุกข์มา และไม่ควรพูดคุยกับเด็กอยู่ตลอดเวลา ถึงความแตกต่างของสมัยนี้กับสมัยก่อน อย่าพยายามเปรียบเทียบอดีตกับปัจจุบัน เพราะการพูดเปรียบเทียบอยู่ซ้ำๆ ซากๆ พวกเด็กๆ จะรำคาญ ไม่อยากฟัง

หากพูดผิดๆ หรือทำสิ่งใดผิดพลาดไปบ้าง ก็อย่าคิดว่าตัวเองอายุมากผ่านชีวิตมามาก เมื่อพูดหรือทำอะไรแล้วต้องถูกเสมอ พูดผิดทำผิดจะต้องได้คิดแก้ไข เด็กรุ่นใหม่อาจมีความรู้ ความฉลาดในเรื่องบางอย่างยิ่งกว่าเราก็ได้

หากแสดงอารมณ์หงุดหงิดเกรี้ยวกราดออกมา ควรใช้สติพิจารณาด้วยเหตุผลถึงการกระทำที่ผ่านมา เมื่ออารมณ์เหล่านั้นสิ้นไป และเตือนตัวเองเสมอว่าไม่บังควรเอาแต่อารมณ์ตัวเองอีกต่อไป


แหล่งข้อมูล : www.ku.ac.th/e-magazine - นิตยสารเกษตรศาสตร์ ฉบับที่ 89 พฤศจิกายน 2550

ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
บันได 5 ขั้น สู่ชีวิตใหม่ ที่มีค่าและเป็นสุข
สุขภาพจิตดี ด้วยการปรับวิธีคิดให้เหมาะสม
ความเครียด
การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เพื่อลดความเครียด
กำลังใจ เอาชนะความเศร้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น